บันทึกการรักษา

บันทึกการรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาล

วันแรกที่ล้มป่วย

จันทร์ 2 พฤษภาคม 2554
  • 05:50 น. ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ เนื่องจากทุกเช้าวันจันทร์ต้องขับรถไปทำงานต่างจังหวัด และกลับกรุงเทพทุกคืนวันศุกร์ สภาพร่างกายปกติดีทุกอย่าง อาบน้ำ ทานข้าว ทำกิจวัตรประจำวันโดยไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ
  • 06:50 น. ลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้เพื่อเตรียมตัวจะออกจากบ้าน แต่กลับเซๆหมุนๆไปทางด้านขวา 2-3 ก้าว และทรุดตัวลงนั่งกับพื้นโดยมีอาการงงๆคล้ายบ้านหมุนหรือขาซ้ายเป็นเหน็บชา และเมื่อพยายามจะลุกขึ้นยืนอีก คราวนี้กลับเซไปทางซ้ายอย่างแรง 4-5 ก้าว และหน้าอกด้านซ้ายไปกระแทกกับขอบโต๊ะ โดยไม่สามารถยกมือซ้ายมาป้องกันการกระแทรกนั้นได้ จากนั้นก็ค่อยๆทรุดนั่งลงกับพื้นอีกครั้งหนึ่ง โดยศีรษะไม่ได้รับการกระแทกใดๆ
  • 06:55 น. สติสัมปชัญญะยังมีครบถ้วนทุกอย่าง จึงเรียกญาติพี่น้องในบ้านให้เข้ามาช่วย อาการในขณะนั้นคือ แขนซ้ายขาซ้ายไม่มีแรง และเวลาที่พูด มุมปากด้านซ้ายจะตก (ปากเบี้ยว) และน้ำลายไหลจากมุมปาก จึงน่าจะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ญาติจึงนำขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาลในทันที
  • 07:30 น. เข้าตรวจรับการรักษาจากแพทย์ โดยได้รับคำอธิบายแนวทางการรักษาว่าจะให้ยาเพื่อสลายลิ่มเลือด ซึ่งยานี้จะให้ผลดีในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดอุดตันและได้รับยาหลังจากเกิดอาการป่วยภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเส้นเลือดแตกในสมอง ยานี้จะส่งผลร้ายอย่างรุนแรงคือจะทำให้เลือดในสมองไหลไม่หยุด
  • เปลี่ยนชุดคนไข้ ให้น้ำเกลือ สวนสายปัสสาวะ และทำ CT scan เพื่อตรวจสาเหตุว่าสมองได้รับผลกระทบในบริเวณใดและเป็นกรณีใดระหว่างเส้นเลือดแตก ตีบ หรืออุดตัน แต่ภาพ CT Scan ที่ได้ยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุและตำแหน่งที่มีปัญหาได้อย่างชัดเจน แต่แพทย์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเส้นเลือดฝอยตีบหรืออุดตัน และไม่น่าจะมีเส้นเลือดที่แตก ดังนั้น หากใช้ยาสลายลิ่มเลือด ก็น่าจะเกิดผลดีประมาณ 30% แต่ก็อาจเกิดผลเสียร้ายแรงได้ประมาณ 10%
  • ระหว่างที่รอการตัดสินใจ ปาฏิหารย์ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นคือ มือซ้ายที่แทบจะขยับเขยื้อนไม่ได้เลย กลับยกขึ้นได้ กำมือ แบมือ จีบนิ้ว งอชี้นิ้ว เหยียดแขน งอศอก กางศอก และเคลื่นไหวตามคำสั่งของแพทย์ได้ทุกอย่างราวกับหายเป็นปกติแล้ว แต่อีกครู่ใหญ่ๆ ปาฏิหารย์นั้นก็หมดไป แขนซ้ายเริ่มอ่อนแรงและมือซ้ายก็ขยับเขยื้อนไม่ได้อีกเหมือนเดิม
  • แพทย์ได้ตัดสินใจให้ยาสลายลิ่มเลือด และย้ายจากห้องฉุกเฉินชั้นล่าง ขึ้นไปห้องผู้ป่วยหนักชั้นบนเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีเส้นเลือดแตกในสมอง ยาสลายลิ่มเลือดนั้นจะทำให้อาการทรุดหนักทันที
  • สติสปชัญญะในวันนั้นอยู่ครบถ้วนทุกอย่าง แต่สภาพจิตใจอยู่ในสภาพสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก เป็นห่วงงาน เป็นห่วงเพื่อนร่วมงงานที่จะต้องพลอยวิตกกังวลกับอาการของเรา และที่สำคัญที่สุดคือเป็นห่วงตนเองว่ายาสลายลิ่มเลือดจะได้ผลเพียงใด จะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้อีกใน 2-3 วันข้างหน้าหรือไม่ หรือจะต้องกลายเป็นผู้พิการที่ต้องนอนรักษาไปอีกเป็นแรมเดือน
  • สภาพร่างกายในวันนั้น ขาซ้ายสามารถเหยียดเข่าตรงและยกขึ้นสูงจากเตียงได้ประมาณ 1 ฟุต และพอจะออกแรงเกร็งขาต้านแรงกดของแพทย์ได้ ส่วนแขนซ้ายยกขึ้นได้เเกือบ 90 องศา คือตั้งฉากกับพื้นเตียง แต่ข้อศอกงอ และแขนอ่อนแรงแกว่งไปแกว่งมาบังคับให้อยูนิ่งไม่ได้ และยกค้างไว้นานๆไม่ได้ ส่วนมือซ้ายอยู่ในสภาพนิ้วมืองอเข้าด้านใน ไม่สามารถบังคับมือและนิ้วมือได้

ป่วยมาแล้ว 1 วัน

อังคาร 3 พฤษภาคม 2554
  • วันนี้ถูกย้ายไปห้องข้างๆ ซึ่งน่าจะเป็นห้องผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตรายไม่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว
  • ในตอนเช้า ปาฏิหารย์เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 คือ มือซ้ายสามารถขยับได้ และทำท่าที่ยากๆ เช่น จีบนิ้ว ชูนิ้วนับ 1-5 กำมือ และแบมือได้เหมือนปกติ แต่หลังจากนั้นเพียง 2-3 นาที ปาฏิหารย์นี้ก็หายไป และไม่เกิดซ้ำเป็นครั้งที่ 3 อีกเลย
  • บ่ายวันนั้น อาการอ่อนแรงไม่กระเตื้องขึ้น น่าจะแปลว่ายาสลายลิ่มเลือดใช้ไม่ได้ผล และแปลว่ากรณีนี้ไม่ใช่โรคหลอดเลือดอุดตัน แต่เป็นโรคหลอดเลือดตีบ ซึ่งเซลล์สมองในบริเวณนั้นคงขาดออกซิเจนและตายสนิทไปเรียบร้อยแล้ว
  • แพทย์แจ้งให้ทราบว่าจะให้การรักษาโดยให้สารบำรุงและน้ำเกลือไปหล่อเลี้ยงสมองเพื่อหวังว่าจะช่วยฉุดเซลล์สมองส่วนรอบๆที่ยังไม่ตายสนิทให้รอดชีวิตก่ลับมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
  • คำอธิบายของแพทย์เข้าใจได้ดีอย่างยิ่ง คือเปรียบกับสนามหญ้าที่โดนไฟไหม้ หญ้าส่วนที่อยู่ตรงต้นเพลิงก็จะไหม้เกรียมไปหมดสิ้น แต่หญ้าส่วนที่อยู่รอบๆแม้จะดูเสมือนว่าใบหญ้าถูกไฟไหม้ไปแล้ว แต่โคนรากอาจจะยังไม่ตาย ซึ่งหากได้น้ำไปหล่อเลี้ยงทันเวลาก็อาจจะมีบางส่วนที่รอดชีวิตมาได้ ดังนั้นวิธีรักษาในขั้นนี้จึงทำได้เพียงการประคับประคองเซลล์สมองบริเวณรอบๆที่ยังไม่ตายสนิทให้มีชีวิตเหลืออยู่ให้มากที่สุดเท่าที่พอจะทำได้
  • เรื่องนี้คล้ายกับบทความที่อ่านพบจากอินเตอร์เน็ตในภายหลัง คือ เมื่อเซลล์สมองส่วนใดตายไปเนื่องจากขาดออกซิเจน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการรักษา เซลล์ที่ตายเหล่านั้นจะพลอยไปฉุดให้เซลล์ที่อยู่รอบๆให้ตายตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะต้องไปถึงมือของแพทย์ให้เร็วที่สุดโดยไม่รอดูอาการด้วยตนเอง มิฉะนั้น อาการของโรคจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ
  • เพื่อให้สารบำรุงและน้ำเกลือไปเลี้ยงสมองให้มากที่สุด แพทย์จึงสั่งให้นอนในท่าศีรษะอยู่ต่ำกว่าเท้าเป็นเวลา 1 วัน
  • สภาพจิตใจในวันนี้ยังคงสับสนอยู่ เพราะแม้ว่าอาการอ่อนแรงยังไม่ดีขึ้น แต่เรามาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาเพียง 30-40 นาที อาการจึงไม่น่าจะรุนแรง และยังหวังว่าจะออกจากโรงพยบาลได้ภายใน 2-3 วันนี้
  • สภาพร่างกายในวันนี้ แขนซ้ายขาซ้ายยังอ่อนแรงเหมือนเดิม แต่สามารถพลิกตะแคงตัวทั้งด้านซ้ายและขวาได้ด้วยตนเอง สามารถเกร็งหน้าท้องและใช้ข้อศอกด้านขวา (ซีกที่มีแรง) เพื่อยันตัวลุกขึ้นนั่งบนเตียงได้ และสามารถทรงตัวในท่านั่งเป็นเวลานานๆได้ โดยไม่รู้สึกลำบากแต่อย่างใด
  • ทุกวันตอนเย็นๆ แพทย์เวรจะมาตรวจสอบอาการของผู้ป่วย ซึ่งกรณีของข้าพเจ้า นอกจากจะมีอาการอ่อนแรงซีกซ้ายแล้ว ยังมีอาการชาที่หน้าและแขนซ้าย และมีอาการปากเบี้ยวเล็กน้อย
  • การตรวจสอบการอ่อนแรงของแขน จะให้ผู้ป่วยนอนหงาย และยกแขนชึ้นโดยเหยียดศอกให้ตรง และถ้ายกค้างไว้ได้ดี แพทย์ก็จะออกแรงกดเพื่อให้สู้แรงกัน กรณีของข้าพเจ้าอยู่ในระดับ 3 คือ ยกแขนในแนวตั้งสู้แรงโน้มถ่วงได้ แต่ยังสู้แรงกดจากภายนอกไม่ได้
  • การตรวจสอบการอ่อนแรงของขา จะให้ผู้ป่วยนอนหงาย และยกขาขึ้นโดยเหยี่ยดเข่าให้ตรง ซึ่งข้าพเจ้าอยู่ในระดับ 4 คือ ยกขาในแนวตั้งสู้แรงโน้มถ่วง และสู้แรงกดของแพทย์ได้ในระดับหนึ่ง
  • การตรวจอาการชา แพทย์จะตรวจว่าผิวหนังมีความรู้สึกรับรู้มากน้อยเพียงใด โดยใช้วิธีการแตะสัมผัสต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าสามารถรับรู้การสัมผัสจากภายนอกได้ มีความเจ็บเมื่อถูกหยิก แต่แยกแยะไม่ออกว่าสิ่งที่มาสัมผัสนั้นคืออะไร เช่น หากนำของแหลมกับของทื่อมากดบริเวณแขน จะรู้สึกว่ากำลังถูกกด แต่แยกยะไม่ออกว่าของที่กดนั้นปลายแหลมหรือปลายทื่อ เป็นต้น ในกรณีของข้าพเจ้า อาการชานี้จะเป็นอยู่่นานประมาณ 3-4 สัปดาห์ แล้วก็ค่อยๆจากหายไป
  • การตรวจสอบอาการปากเบี้ยว แพทย์จะให้แยกเขี้ยวยิงฟัน ซึ่งผู้ป่วยจะมองไม่เห็นสภาพหน้าตาของตนเอง แต่ข้าพเจ้าเดาว่าคงยิงฟันได้ซีกขวาซีกเดียว ส่วนซีกซ้ายที่มีอาการชาคงไม่ขยับอะไร ซึ่งกรณีของข้าพเจ้าหลังจากพยายามออกกำลังกล้ามเนื้อปาก โดยการฝึกอ้าปากกว้างๆ และฝึกยิงฟันบ่อยๆ อาการปากเบี้ยวก็ค่อยๆหายไปเองในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ป่วยมาแล้ว 2 วัน

พุธ 4 พฤษภาคม 2554
  • วันนี้ไปเข้าอุโมงค์ (เครื่อง MRI) เพื่อเช็คสมองโดยละเอียด ซึ่งการเข้าอุโมงค์นี้ต้องนอนนิ่งๆ ห้ามขยับศีรษะเป็นเวลาประมาณ 40-50 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่ทรมานมาก เพราะที่ผ่านมา 2-3 วันนี้ ก็ต้องนอนอยู่บนโดยแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรมากนัก จนเริ่มปวดเอวปวดหลัง แล้วยังต้องมานอนนิ่งๆตัวแข็งๆอีก 1 ชั่วโมงอีก .. เมื่อไรจะมีการพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยใช้เวลาตรวจที่น้อยลงเพื่อลดความทรมานของคนไข้ก็ไม่รู้ ..
  • ผลการตรวจ MRI พบว่าเส้นเลือดฝอยตีบในบริเวณ ???? ซึ่งเป็นสมองส่วนลึก จึงไม่สามารถตรวจพบได้จากการทำ CT scan ในวันแรก
  • สมองบริเวณที่เรียกว่า ??? นี้ เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ ??? ดังนั้น แม้จะเป็นเพียงเส้นเลือดฝอยที่ตีบ ก็ยังมีผลกระทบต่อการควบคุมการทำงานของอวัยวะซีกซ้ายอย่างรุนแรง
  • อาการสมองในวันนี้เริ่มดีขึ้น สามารถพูดคุยกับญาติได้นานขึ้นกว่าวันแรก เพราะ 1-2 วันแรก หากพูดคุยเพียง 4-5 นาทีก็จะรู้สึกปวดศีรษะทันที
  • สภาพจิตใจในวันนี้ เริ่มทำใจได้แล้วว่าคงต้องนอนโรงพยาบาลและทำกายภาพบำบัดอีกนาน แต่กำลังใจยังดีอยู่ เพราะรู้สึกว่าเป็นไม่มาก หากตั้งใจทำกายภาพบำบัดอย่างเต็มที่ ก็น่าจะกลับไปเป็นปกติได้เหมือนเดิม
  • สภาพร่างกาย ขายังมีแรงเท่ากับวันก่อนๆ แต่แขนมีกำลังลดลง ยกแขนได้เพียงเฉียงๆประมาณ 60 องศา และอ่อนแรงแกว่งไปแกว่งมา


ป่วยมาแล้ว 3 วัน

พฤหัส 5 พฤษภาคม 2554
  • หลังจากงดข้าวงดน้ำ ให้แต่น้ำเกลือเป็นเวลา 3 วัน เช้าวันนี้แพทย์อนุญาตให้ทานข้าวได้แล้ว ซึ่งก็ทานได้เป็นปกติ ไม่มีการสำลักใดๆ แต่ก็เริ่มเป็นห่วงว่าเมื่อเริ่มทานข้าวแล้วจะปลดทุกข์อย่างไร เพราะยังคงต้องนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน
  • แพทย์อธิบายว่าการที่กำลังแขนขาในแต่ละวันไม่เท่ากัน เป็นเพราะสภาวะของสมองยังไม่นิ่ง จึงจะยังคงรักษาต่อโดยการให้สารบำรุงสมองและน้ำเกลือต่อไปอีกจนกว่าอาการจะนิ่ง แต่เนื่องจากความดันโลหิตและชีพจรค่อนข้างต่ำ จึงจะให้สาร doping เพื่อเพิ่มความดันโลหิตให้สารบำรุงและน้ำเกลือไปหล่อเลี้ยงสมองให้มากที่สุด
  • วันนี้คุณหมอท่านหนึ่งแจ้งว่าจะขอให้นักศึกษาแพทย์มาฝึกการซักประวัติและอาการคนไข้ เนื่องจากอาการของข้าพเจ้าอยู่ในขั้นทรงตัว มีสติ สามารถพูดคุยได้ตามปกติมากกว่าคนไข้รายอื่นซึ่งมีอาการหนักกว่า
  • ข้าพเจ้าขอแอบพูดเงียบๆในใจว่า วิธีการให้นักศึกษาแพทย์ซักถามประวัติและอาการของคนไข้ตามลำพังโดยไม่มีอาจารย์แพทย์ผู้ฝึกสอนยืนเฝ้าอยู่ในเหตุการณ์ด้วย น่าจะไม่เหมาะสม เพราะมีการตั้งคำถามที่วกวน ซ้ำไปซ้ำมา และมีคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาการของโรคอีกมากมาย ซึ่งน่าจะเป็นการถามในลักษณะการทำวิจัยมากกว่าที่จะเป็นการฝึกซักถามประวัติและอากรของคนไข้โดยทั่วไป
  • ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซักถามประวัติหรือซักถามเพื่อทำวิจัยก็ตาม ควรมีอาจารย์ผู้สอนร่วมฟังอยู่ด้วย และควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน เพราะการที่จะได้คำตอบให้ครบถ้วนตามที่ต้องการ คนที่มีทักษะ ปฏิภาน ไหวพริบ อาจใช้เวลาเพียง 10 นาที แต่คนที่ไม่มีทักษะอาจจะใช้เวลากว่า 30 นาที เป็นต้น ดังนั้น หากอาจารย์ผู้สอนอยู่ร่วมในเหตุการณ์ก็จะสามารถชี้แนะหรือพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาเหล่านั้นได้
  • ไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้นที่รู้สึกเช่นนี้ ในสัปดาห์ต่อมา คุณลุงวัย 90 ที่นอนอยู่เตียงข้างๆ ก็ถูกร้องขอในลักษณะเดียวกัน ซึ่งนักศึกษาชุดใหม่นี้ ก็ซักถามวกไปวนมา ซ้ำไปซ้ำมา จนข้าพเจ้าซึ่งนอนฟังอยู่ข้างๆ ยังรู้สึกรำคาญแทนคุณลุง เพราะคำถามบางข้อน่าจะไดรับคำตอบจากคำถามก่อนหน้านั้นเรียบร้อยไปแล้ว เป็นต้น จนท้ายที่สุดลูกชายของคุณลุงก็คงทนไม่ไหว และขอให้หยุดถามต่อโดยอ้างว่าคุณลุงต้องการพักผ่อน
  • วันนี้เกือบทั้งวันยังเป็นการนอนพักผ่อน และลุกขึ้นนั่งเพื่อทานอาหารหรือพูดคุยกับญาติมิตรที่แวะมาเยี่ยม
  • สภาพร่างกายในวันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แขนขายังมีอาการอ่อนแรงเหมือนกับวันก่อนๆ หวังว่าอาการคงจะเริ่มนิ่งในเร็วๆนี้ จะได้เริ่มทำกายภาพบำบัดเสียที


ป่วยมาแล้ว 4 วัน

วันจักรี ศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2554
  • วันหยุดราชการ ไม่มีการตรวจรักษาอะไรเพิ่มเติม
  • เช้าวันนี้บุรุษพยาบาลถามว่า จะนั่งรถเข็นไปอาบน้ำไหม เพราะ 4 วันที่ผ่านมา จะเป็นการนั่งล้างหน้าเช็ดตัวบนเตียงเท่านั้น ข้าพเจ้าตอบตกลงในทันที เพราะการได้นั่งรถเข็น นอกจากจะหมายถึงการเข้าห้องน้ำเพื่อสระผม ถูสบู่ ชำระล้างร่างกายแล้ว ยังน่าจะหมายถึงการเข้าห้องส้วมเพื่อทำธุระส่วนตัวได้อีกด้วย
  • เนื่องจากข้าพเจ้าสามารถลุกนั่งบนเตียงและทรงตัวได้ การเคลื่อนย้ายตัวจากเตียงไปรถเข็น และจากรถเข็นไปเตียง จึงสามารถทำได้โดยไม่ติดขัดอะไร ระหว่างการย้ายตัวบุรุษพยาบาลจะเป็นผู้ช่วยประคอง โดยข้าพเจ้าใช้มืข้างที่มีแรงเกาะของเตียงและขอบรถเข็น ส่วนการยืนนั้น แทบจะลงน้ำหนักทั้งหมดบนขาข้างที่ดีเท่านั้น ไม่กล้าลงน้ำหนักบนขาข้างซ้ายที่ไม่มีแรง
  • สภาพแขนขาในตอนนี้เริ่มคงที่แล้ว แต่คงที่ในลักษณะอ่อนแรงกว่าวันแรกๆเล็กน้อย คือ แขนจะยกได้ไม่สุด แกว่งไปมา และต้านแรงได้น้อยมาก ส่วนขาอยู่ในสภาพแข็งแรง ยกได้มั่นคง เกร็งกำลัง และต้านแรงได้ดี
  • สรุปอาการโดยรวมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวข้อต่อ คือ หัวไหล่ขยับได้แต่ยกได้ไม่สุด ข้อศอกเหยียดและงอได้พอสมควรแต่อ่อนแรงมาก ข้อมืองอหรือกระดกไม่ได้เลย นิ้วมืออยู่ในสภาพกำมือหลวมๆแต่ขยับไม่ได้ สะโพกขยับได้ดี หัวเข่าเหยียดได้ดี แต่งอเข่าได้ไม่สุด ข้อเท้ากระดกหรือเหยียดไม่ได้ นิ้วเท้าขยับไม่ได้
  • เย็นวันนั้นข้าพเจ้าทดลองฝึกการลงน้ำหนักบนขาซ้ายในท่านอน โดยการชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง และยกก้นให้ลอยจากเตียง ซึ่งก็ทำได้โดยไม่ลำบากอะไร
  • วันนี้เริ่มมีความรู้สึกมั่นใจลึกๆแล้วว่าจะต้องเดินได้แน่นอน เพราะการนอนยกขาขึ้นจากเตียงในท่าเหยียดเข่า ก็คล้ายๆกับการก้าวเท้าออกไปข้างหน้า ส่วนการนอนงอเข่าและยกก้นให้ลอย ก็คล้ายๆกับการลงน้ำหนักลงบนฝ่าเท้า ซึ่งเมื่อทำทั้ง 2 ท่านี้ได้ ก็น่าจะต้องเดินได้อย่างแน่นอน แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะต้องเริ่มจากการหัดใช้ไม้เท้าพยุงตัวก่อนก็ตาม
  • การฝึกยกขาและยกก้นนี้ น่าจะให้คนไข้ทุกคนได้เริ่มฝึกตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงพยาบาล เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่หักโหมเกินไป ใครมีแรงน้อยก็ฝึกน้อย ใครยังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ ... แต่ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายเริ่มบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆเอง โดยแพทย์ยังไม่ได้แนะนำให้เริ่มฝึกอะไร ... หรือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ??
  • ในต่างประเทศจะฝึกให้คนไข้ยืนหรือนั่งทันทีที่เข้ารับการรักษาโรค แต่ที่ประเทศไทยดูเหมือนจะแยกการรักษาและการฟื้นฟูออกจากกัน โดยจะรักษาให้เสร็จในขั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะให้เริ่มทำการฟื้นฟู
  • ระยะเวลาการฟื้นฟูอาการพิการจากโรคเส้นเลือดสมองอย่างมีประสิทธิภาพ มีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด เวลาที่ผ่านไปแต่ละวันจึงมีคุณค่าทั้งสิ้น ผู้ป่วยแต่ละคนจึงควรปรึกษาแพทย์เจ้าของโรค เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู แม้จะเป็นช่วงที่ยังนอนรักษาอาการอยู่บนเตียงก็ตาม


ป่วยมาแล้ว 5 วัน

เสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2554
  • เริ่มทำกายภาพบำบัดโดยคิดท่าเอาเอง เช่น ยกแขน ยกขา ยกก้น งอแขน งอขา ประมาณ 1 ชั่วโมง
  • แพทย์ถอดสายสวนปัสสาวะออก เพื่อให้ปัสสาวะเอง เพราะถ้าใส่สายปัสสาวะไว้นานเกิดไป อาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ แต่เนื่องจากยังลงจากเตียงไม่ได้ จึงต้องนั่งปัสสาวะบนเตียงโดยใช้กระป๋องปัสสาวะ และให้พยาบาลช่วยนำไปเททิ้งเป็นครั้งๆ
  • แพทย์แจ้งว่าอาการทางสมองเริ่มทรงตัวแล้ว การให้สารบำรุงสมองแลน้ำเกลือจะสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ และจะให้เริ่มลงไปทำกายภาพบำบัดได้ตั้งแต่วันจันทร์หน้าเป็นต้นไป
  • อาการของขาซ้ายในตอนนี้ ยังคงเหมือนเดิม คือ ยกท่อนขาได้ เหยียดหัวเข่าได้ งอหัวเข่าได้แต่ยังไม่ถนัด งอหรือเหยียดข้อเท้าไม่ได้ ขยับนิ้วเท้าไม่ได้
  • อาการของแขนซ้ายก็ยังคงเหมือนเดิมเช่กัน คือ แขนยังไม่ค่อยมีแรง ยกแขนได้แต่ไม่ถนัด งอข้อศอกได้แต่ยังไม่ถนัด งอข้อมือหรือกระดกข้อมือไม่ได้ กำมือหรือแบมือไม่ได้ นิ้วมือขยับไม่ได้อยู่ในสภาพงอเข้าด้านในแบกำมือหลวม


ป่วยมาแล้ว 6 วัน

อาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2554
  • ทำกายภาพบำบัดเหมือนกับเมื่อวาน และทดลองหัดหยิบลูกเทนนิสด้วย แต่เนื่องจากยังกำมือหรือแบมือได้ จึงเป็นลักษณะของการเอาลูกเทนนิสไปยัดใส่มือเสียมากกว่า
  • ตอนบ่ายไข้ขึ้นสูง 39.5 องศา จากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ความหวังที่จะได้ทำกายภาพบำบัดในวันพรุ่งนี้พังพินาศหมดสิ้น
  • การได้เริ่มทำกายภาพบำบัดโดยเร็ว จะมีผลโดยตรงกับการฟื้นฟูอาการพิการของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองมากขึ้นเท่านั้น .... แต่นี่เราจะต้องมาเสียโอกาสในช่วงที่สำคัญที่สุดไปง่ายๆ เช่นนี้หรือ ?
  • ขอแอบพูดเงียบๆในใจอีกครั้งหนึ่งว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในโรงพยาบาล เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไร คนไข้ควรมีสิทธิรับรู้เพื่อร่วมมือป้องกันด้วยหรือไม่


ป่วยครบ 1 สัปดาห์

จันทร์ที่ 9 - พุธที่ 11 พฤษภาคม 2554
  • ไม่มีอะไรจะเขียน เพราะไข้ยังขึ้นสูงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 จึงต้องนอนซมอยู่บนเตียง ช่วงไหนไข้ลด ก็พยายามยกแขนยกขาเท่าที่พอจะมีแรง
  • นักกายภาพบำบัดขึ้นมาดูอาการที่ห้อง และช่วยดัดแขนขาเพื่อช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อในส่วนที่ยังขยับเองไม่ถนัด เช่น หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้ว หัวเข่า ข้อเท้า และช่วยสอนท่ากายภาพที่ไม่ต้องออกแรงมาก เช่น การประสานมือซ้ายขวาและเหยียดให้สุดและยกขึ้นเหนือศีรษะเพื่อออกกำลังหัวไหล่ซ้าย หรือการนั่่งโดยใช้แขนซ้ายยันเพื่อออกกำลังกายแขนซ้าย แต่ท่านี้จะต้องใช้มืขวากดข้อศอกซ้ายให้นิ่งเพื่อไม่ให้ศอกทรุดและได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
  • สายน้ำเกลือที่ถอดไปแล้วถูกนำกลับมาต่อใหม่พร้อมกับถุงน้ำยารักษาอาการติดเชื้อ
  • ความมั่นใจที่จะกลับมาเดินได้เป็นปกติเริ่มสั่นคลอน ทำไมเราต้องมาเสียเวลา 4-5 วันในช่วงเวลาที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตแบบนี้ก็ไม่รู้
  • เย็นวันพุธ ไข้เริ่มลดแล้ว พรุ่งนี้น่าจะลงไปฝึกกายภาพบำบัดได้ เขาจะสอนอะไร เราจะเดินได้หรือเปล่า ... อย่างน้อยก็ขอฝึกเดินที่โรงพยาบาลซัก 4-5 วัน จะได้กลับบ้านด้วยความมั่นใจ
  • ค่ำวันพุธ แพทย์แจ้งว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นวันทำงานวันสุดท้าย จากนั้นจะเป็นวันหยุดราชการ 5 วัน คือวันพืชมงคล เรื่อยยาวไปจนถึงวันวิสาขบูชา ซึ่งในช่วง 5 วันนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีเฉพาะแพทย์ฉุกเฉินที่เข้าเวรเพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน จะไม่มีแพทย์ที่จะมาดูอาการผู้ป่วยใน ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ข้าพเจ้าออกจากโรงพยาบาลในวันศุกร์เพื่อสละเตียงให้กับคนไข้ฉุกเฉินในวันหยุดยาว ส่วนสถานกายภาพบำบัดที่ข้าพเจ้าจองคิวไว้ก็มีเตียงว่างสามารถเข้ารับการรักษาได้แล้ว แต่ก็จะหยุดยาว 5 วันเหมือนกัน จึงจะให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านก่อน แล้วจึงไปทำกายภาพบำบัดในวันพุธหน้าที่เป็นวันเปิดทำการ
  • สรุปว่าการรักษาอาการทางสมองของผู้เขียนเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 นับจากวันที่ล้มป่วย จากนั้นก็นอนเฉยๆอีก 4 วันเพื่อให้ไข้ลด และจะได้ทำกายภาพบำบัด 1 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นอีก 5 วัน จึงจะได้เริ่มทำกายภาพบำบัดอย่างจริงจังเสียที ... รวมเวลาที่หายไปทั้งสิ้น 9 วัน ... แต่ไม่เป็นไร ถ้าได้ย้ายไปศูนย์กายภาพบำบัดเมื่อไร ผู้เขียนจะหาวิธีเอา 9 วันที่สูญหายไปนั้นกลับมาเอง


ป่วยมาแล้ว 10 วัน

พฤหัสที่ 12 พฤษภาคม 2554
  • วันนี้ข้าพเจ้าจะได้ลงไปฝึกกายภาพบำบัดเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสแรกและโอกาสเดียวในช่วง 18 วันหลังจากล้มป่วย ก่อนที่จะได้เริ่มฝึกเต็มรูปแบบในอีก 5 วันข้างหน้า
  • เรื่องที่อยู่ในสมองของข้าพเจ้าตอนนี้มีเพียง 2 เรื่องคือ
    • จะขอฝึกเดินวันนี้เลยได้หรือไม่ เพราะยังไม่เคยได้ฝึกเลย และพรุ่งนี้ต้องกลับบ้านแล้ว และ
    • ช่วงที่นอนอยู่บ้าน 5 วันควรฝึกอะไร
  • นักกายภาพบำบัด ซึ่งน่าจะได้อ่านข้อมูลจากแฟ้มคนไข้ว่าขาซ้ายซีกที่อ่อนแรงของข้าพเจ้ามีแรงในระดับ 4 อนุญาตให้ข้าพเจ้าทดลองฝึกเดินได้ โดยให้จับราวและเดินช้าๆ ระหว่างที่เดิน ข้าพเจ้าลงน้ำหนักขาซ้ายไม่มากนัก แต่ก็พอจะทำให้เกิดความมั่นใจว่า "เราจะต้องเดินได้"
  • จากนั้นนักกายภาพบำบัดให้ข้าพเจ้าทดลองเดินด้วยไม้เท้า โดยสอนวิธีการเดินด้วยไม้เท้า คือ
    • ถือด้วยมือข้างที่มีแรง
    • ปรับความสูงของไม้เท้าให้เหมาะสมคือ เมื่อกดไม้เท้าลงบนพื้น แขนข้างที่กดควรทำมุมกับลำตัวประมาณ 20 องศา
    • ยื่นไม้เท้าไปข้างหน้าในแนวขนานกับขา โดยผู้ที่เริ่มหัดใหม่ควรยื่นไม้เท้าไปข้างหน้าเพียงเล็กน้อย เช่น ประมาณ 1 ฝ่าเท้า หรือประมาณ 20 เซนติเมตร
    • ก้าวเท้าที่อ่อนแรงไปข้างหน้าให้ตรงกับแนวไม้เท้า ก็คือสืบเท้าไปประมาณ 1 ฝ่าเท้า หรือ 20 เซนติเมตรเช่นกัน
    • ก้าวเท้าข้างที่มีแรงผ่านตรงกลางระหว่างไม้เท้ากับเท้าที่ไม่มีแรง โดยการสืบเท้าข้างนี้ให้พยายามก้าวเท้าให้ไกลหน่อย
    • จากนั้นก็ย้อนไปเริ่มตามขั้นตอนที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง
  • ข้าพเจ้าสามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าได้ แม้จะรู้สึกว่าเดินอย่างเชื่องช้ามากก็ตาม
  • นักกายภาพบำบัดบอกกับข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าจะกลับมาเดินได้แน่นอน และในวันหยุด 5 วันนี้ให้กลับไปฝึกเดินที่บ้านให้มากที่สุด รวมถึงการฝึกท่ามาตรฐานอีก 3 ท่า คือ
    • ท่านอนยกขาโดยเหยียดเท้าให้สุด และยกเท้าให้สูงจากพื้นประมาณ 50 ซม. หรือเท่าที่พอจะทำได้
    • ท่านอนโดยใช้หมอนสามเหลี่ยมหนุนรองใต้เข่าเพื่อตั้งเข่าให้ชัน จากนั้นยกข้อเท้าและเหยียดหน้าแข้งในแนวราบให้ขนานกับพื้น
    • ท่านอนประสานมือ เหยียดแขนให้ตรง และยกขึ้นให้สุดหัวไหล่โดยไม่งอข้อศอก
  • โดยให้ทำทั้ง 3 ท่า เซ็ตละ 20 ครั้ง และทำบ่อยๆ เท่าที่พอจะมีแรงและมีเวลา
  • แม้จะเป็นเวลาสั้นๆประมาณ 30 นาที แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงสุขของการได้ยืนด้วยขาของตนเอง (+ไม้เท้า) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องนั่งๆนอนๆ มาเป็นเวลาถึง 11 วัน
  • เย็นวันนั้น ผู้เขียนถูกย้ายห้องนอนเป็นครั้งที่ 3 ครั้งนี้เป็นห้อง 2 เตียงนอนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างดี และไม่เป็นภาระของพยาบาลมากนัก ห้องนี้เดิมทีน่าจะเป็นห้องผู้ป่วยรวมขนาด 4-6 เตียง แต่ปัจจุบันครึ่งหนึ่งถูกใช้เป็นห้องเก็บของ และหน้าต่างบางส่วนก็ถูกปิดตายด้วยไม้กระดาน ซึ่งสันนิษฐานว่าด้านนอกหน้าต่างคงเป็นรังนกกระจอกหรือนกพิราบ เพราะตกเย็นจะมีเสียงก็อกแก๊กเกือบตลอดทั้งคืน โชคดีที่ข้าพเจ้าจะต้องออกจากโรงพยาบาลในวันพรุ่งนี้ เพราะหากต้องนอนในห้องข้างๆรังนกแบบนี้อีกหลายวัน หากป่วยเป็นไข้หวัดนกก็คงไม่ดีเป็นแน่แท้


ป่วยครบ 2 สัปดาห์

ศุกร์ที่ 13 - อังคารที่ 17 พฤษภาคม 2554
  • ครบกำหนดที่ต้องออกจากโรงพยาบาลในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2554 ขอขอบคุณคุณหมอและคุณพยาบาลทุกๆท่านที่ช่วยดูแลรักษาผู้เขียนมา ณ ที่นี้
  • การที่ได้มีโอกาสฝึกเดินก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล แม้จะเป็นเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่นาที แต่ก็สร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างมาก ในช่วง 5 วันที่อยู่ที่บ้าน จึงใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดในการฝึกยืนและการเดินโดยการใช้ไม้เท้าเพื่อให้เกิดความกล้าและความมั่นใจ
  • การฝึกยืน ทำโดยการนำโต๊ะที่แข็งแรงมั่นคงมาตั้งไว้ข้างๆเตียง เว้นระยะห่างประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะห่างที่พอจะยืนได้โดยไม่อึดอัด
    • การฝึกยืนจะเริ่มโดยการนั่งบนเตียง ห้อยเท้าลงบนพื้น หันหน้าเข้าหาโต๊ะ จากนั้นใช้มือข้างที่มีแรงกดเตียงเพื่อยันกายให้ลุกขึ้นยืน จากนั้นก็ฝึกยืนทรงตัวเท่าที่จะพอมีแรง
    • วิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัยเนื่องจากหากจะล้มไปข้างหลังก็สามารถนั่งบนเตียงได้ หรือหากเข่าทรุดหรือจะล้มไปด้านหน้าหรือด้านข้าง ก็สามารถใช้มือข้างที่มีแรงจับโต๊ะเพื่อช่วยพยุงตัวได้
    • ผู้เขียนฝึกลุกนั่งลุกยืนเป็นร้อยๆครั้ง พยายามยืนให้นานๆเท่าที่จะพอมีแรง และพยายามลงน้ำหนักบนขาข้างที่ไม่มีแรงให้มากพอๆกับขาข้างที่มีแรงด้วย
  • การฝึกเดิน ต้องใช้ความระมัดระวังมาก วิธีที่ข้าพเจ้าใช้คือ เลื่อนเตียงให้ไปอยู่ใกล้กับฝาผนังโดยเว้นระยะห่างประมาณ 70 เซ็นติเมตร เพื่อเป็นทางเดินเดิน
    • วิธี้นี้มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง คือ หากอ่อนแรงหรือจะเสียหลัก ก็สามารถล้มตัวบนเตียง หรือใช้มือและลำตัวซีกที่ถนัดพิงฝาผนังเพื่อประคองตัวได้
    • สิ่งที่ควรระมัดระวังในการฝึกเดิน คือ การเดินในช่วงแรกนี้จะเป็นการลากเท้ามากกว่าการยกเท้าเดิน ดังนั้น สายไฟหรือพรมเช็ดเท้าซึ่งหนาเพียง 0.5 เซนติเมตร ก็อาจทำให้สะดุดหกล้มได้ ดังนั้น บริเวณทางเดินที่ฝึกเดิน หรือเส้นทางที่ต้องใช้บ่อยๆ จึงไม่ควรมีพื้นต่างระดับหรือสิ่งกีดขวางใดๆ แม้กระทั่งพรมเช็ดเท้าหน้าห้องน้ำ ก็ควรใช้เฉพาะเวลาที่จำเป็น และเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ต้องเก็บให้พ้นทางเดินทุกครั้ง
  • การอาบน้ำ นอกจากจะต้องใช้แผ่นพลาสติกกันลื่นแล้ว ควรนั่งอาบน้ำบนเก้าอี้ที่แข็่งแรง โดยตั้งเข้าหามุมห้องเพื่อให้ปลอดภัย และมีม้านั่งเตี้ยๆ สำหรับวางสบู่และแชมพูไว้ข้างๆ เพื่อไม่ต้องลุกนั่งลุกยืนในห้องน้ำบ่อยเกินไป
  • รองเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าฟองน้ำ เพราะจะทำให้ติดนิสัยเดินลากเท้า ซึ่งจะแก้ไขได้ยาก
    • ไม่ควรใช้รองเท้าผ้าใบ เพราะในช่วงนี้จะมีอาการขาบวม หรืออาจจะต้องใส่อุปกรณ์ช่วยยกปลายเท้า ซึ่งจะทำให้เท้ามีขนาดใหญ่กว่าปกติ ไม่สามารถใส่รองเท้าผ้าใบได้
    • รองเท้าที่เหมาะสมน่าจะเป็นรองเท้าแตะที่มีสายรัด 3 ตอน คือที่ปลายเท้า หลังเท้า และข้อเท้า ซึ่งนอกจากจะกระชับกับเท้าแล้ว ยังสามารถขยายขนาดให้ใหญ่ในกรณีที่เท้าบวมหรือกรณีที่ต้องใส่อุปกรณ์ช่วยเดินได้อีกด้วย
  • ก่อนการเข้าฝึกในศูนย์กายภาพบำบัด ควรสอบถามเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไป สำหรับกรณีของข้าพเจ้าเนื่องจากพักห้องเดี่ยว จึงเตรียมเก้าอี้นั่งอาบน้ำ พรมกันลื่นในห้องน้ำ ม้านั่งวางสบู่แชมพู ไม้เกาหลัง (จำเป็นมาก ^-^ ) อุปกรณ์ฝึกหัดมือ เช่น ลูกกอล์ฟ ลูกเทนนิส ไม้หนีบขนาดใหญ่ และสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้ค สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับโรคเส้นเลือดสมองและการทำกายภาพบำบัด
    • ศูนย์ฯที่ผู้เขียนฝึก ปกติจะต้องใส่ชุดผู้ป่วยเมื่อลงไปทำกายภาพบำบัด แต่อนุญาตให้ใช้ใส่เสื้อผ้าปกติในเวลาที่อยู่ในห้องพักได้ ผู้เขียนจึงเตรียมเสื้อยืดและกางเกงขาสั้นไปด้วย และใส่ทุกครั้งเมื่อกลับห้องพัก เพื่อผ่อนคลายจากแรงกดดันที่ต้องใส่ชุดผู้ป่วยทั้งวันทั้งคืน
    • ก่อนที่จะย้ายเข้าศูนย์ 1 วัน ผู้เขียนโกนศีรษะ เพื่อเตือนใจตนเองให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะฝึกให้ดีที่สุด

ป่วยมาแล้ว 16 วัน

พุธ 18 พฤษภาคม 2554
  • เข้ารับการฟื้นฟูและบำบัดอาการพิการที่เกิดจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ โดยในส่วนของข้าพเจ้ามีโปรแกรมการฝึก ดังนี้
  • กายภาพบำบัด ฝึกทุกวัน วันละประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อเคลื่อนไหวข้อต่อไม่ให้ยึดติด ฝึกการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็่งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกเดิน และใช้ไฟฟ้ากระตุ้นในบริเวณเส้นเอ็นที่ขยับข้อต่อไม่ได้
  • กิจกรรมบำบัด จะฝึกเป็นประจำทุกวัน วันละประมาณ 2 ชั่วโมง ในกรณีของข้าพเจ้าจะเน้นเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพของฝึกมือและนิ้ว เพื่อฝึโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่น การสวมใส่เสื้อผ้า การเคลื่นย้ายตัวจากเตียงไปนั่งรถเข็น การฝึกใช้มือในการหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น โดยในวันแรกจะเป็นการตรวจสภาพของหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ความสามารถในการใช้มือ และความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อรรถบำบัด เป็นการฝึกการพูดและการกลืนกินให้กับผู้ที่มีปัญหา
  • จิตบำบัด เป็นการดูแลสภาพทางจิตใจของผู้ป่วย
  • รายละเอียดในการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด อยู่ในหัวข้อ "บันทึกการฟื้นฟู (ตอนที่ 1)"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น